If you cannot view this HTML message properly,
please click here
หากพบปัญหาในการดูภาพหรือลิงค์ต่างๆ
กรุณา คลิกที่นี่
 
วันที่ 21 กรกฏาคม 2554
  ผมได้มีโอกาสจัดฝึกอบรม หลักสูตร “Leader as a Coach” และหลักสูตร “To Be Good Coach” ในลักษณะ In House Group Coaching อยู่หลายบริษัท และทุกครั้ง จะมีคนชอบปรึกษาว่า ถ้าจะนำไปโค้ชชิ่งลูกบ้างจะได้ไหม? ซึ่งผมก็รีบสนับสนุนเลย เพราะเห็นประโยชน์เป็นอย่างมากที่ พ่อแม่ จะใช้บทบาทการเป็นโค้ชบ้าง ผมเลยเปิดโอกาสให้ ยกกรณีที่รู้สึกกับลูกในเชิงลบ แล้วผมขออนุญาตโค้ชชิ่งผู้เรียนหน่อยว่า ถ้าเราปรับเปลี่ยนแนวความคิดกับลูก โดยใช้คำถามกับเขาจะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?
คุณจินตนา :
อาจารย์ค่ะ ถ้าลูกดื้อ เราจะโค้ชชิ่งเขาอย่างไรค่ะ
อาจารย์ :
เราไม่คิดว่าเขาดื้อได้ไหมครับ คิดว่าเขากำลังเรียกร้องความสนใจเท่านั้น
คุณจินตนา :
แต่เขาดื้อมากจริงๆ นะค่ะ จะเอาอะไรก็ต้องได้ แล้วจะเซ้าซี้ ไม่ยอมเลิกเลย อาจารย์จะให้ดิฉันทำอย่างไรค่ะ
อาจารย์ :
การที่เขาพยายามเซ้าซี้ เพื่อให้ได้สิ่งนั้น เป็นเพราะเขาไม่มีเรื่องอื่นที่สนใจ เขาจึงยังเรียกร้องเรื่องนี้อยู่ ถ้าเราเปลี่ยนให้เขาไปสนใจเรื่องอื่นแทน เขาจะลืมเรื่องนี้ไปได้ครับ
คุณจินตนา :
แล้วจะทำอย่างไรละค่ะ ช่วยบอกแนวหน่อย
อาจารย์ :
ลองถามว่า “สิ่งที่ลูกกำลังขออยู่นี้ รู้เหตุผลของแม่หรือไม่ที่ไม่ให้”
คุณจินตนา :
ถ้าเขาบอกว่า “ไม่รู้” หรือ ไม่ยอมตอบล่ะค่ะ
อาจารย์ :
ลองถามเขาว่า “รู้ไหมว่าต้องทำอย่างไรบ้างที่จะได้สิ่งนี้” รู้ แต่หนูอยากได้ก่อน แล้วหนูจะทำให้ ลองถามว่า “หนูมีเรื่องอื่นที่อยากได้อีกหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ เรื่องนี้” เปลี่ยนความสนใจเขาไปเรื่องอื่นก่อน เช่นช่วยแม่ทำนี่หน่อยซิค่ะ ถ้าเขายังดื้อเรื่องที่เขาต้องการอยู่อีกล่ะ คุยกับเขาว่า “เราเคยตกลงกันว่า ถ้าจะได้เรื่องนี้ ต้องทำอะไรบ้างนะ?” (พยายาม ทำให้เขามองเห็นว่า เขาจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุผล)
คุณจินตนา :
อย่างนี้ก็คือว่า เราไม่ควรโมโหที่เขาเซ้าซี้ แต่ให้พยายามเปลี่ยนความสนใจเขาเป็นเรื่องอื่น และหรือ ทำให้เขารู้สึกได้ว่าเขาต้องมีเหตุผล ใช่ไหมค่ะ
อาจารย์ :
ถูกต้องแล้วครับ เขาเรียกร้องหรือเซ้าซี้ เราไม่มีอารมณ์ได้หรือไม่ เพราะเราต้องการสอนเขาให้มีเหตุผล ถ้าเราโมโหเสียแล้ว เราก็จะด่าว่าเขา สุดท้ายก็โกรธกัน ไม่ได้สอนซักที
คุณจินตนา :
ดิฉัน เข้าใจแล้วค่ะ แต่มันยากมากเลย
อาจารย์ :
ผมเข้าใจครับว่า มันยาก แต่ถ้าทำได้มันคุ้มหรือไม่ครับ
คุณจินตนา :
ก็คุ้มค่านะค่ะ ดิฉันจะลองทำดู
อาจารย์ :
ยินดีด้วยครับ ขอให้ทำสำเร็จนะครับ
   การสอนลูกๆ นั้นจะต้องใจเย็น เพราะถ้าเราโมโหแล้ว เขาก็จะกลัว แต่เขาจะไม่ได้เรียนรู้ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ อยากให้เรื่องจบเร็วๆ เลยใช้การดุหรือโมโหใส่ แต่จริงๆ แล้ว เด็กจะหยุดไปชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าทำให้เขาคิดอย่างมีเหตุผลได้ เขาก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นครับ

   การอดทนในการสอนลูก ในลักษณะการใช้คำถาม เพื่อให้เขาได้คิด จะเหมาะสมกับเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความคิดของตัวเอง แล้วเราก็จะไม่เครียดในตอนสอนด้วย ลองทำดูนะครับ

พบกันฉบับหน้าครับ