|
เรื่องที่อยากเล่า # 64
การใช้ความสำคัญที่หัวหน้างานในองค์กร |
28 ก.ค. 2553 |
ตลอดปี 2553 ที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำการฝึกอบรมให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก ประกอบไปด้วยหลายหลักสูตร ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Plant Manager, ผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนผู้เข้าอบรมในหลายระดับ ทำให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาบุคลากรของโรงงานอุตสาหกรรม มองเห็นหลุมพรางที่แต่ละระดับพบเจอ พร้อมแนวความคิดที่จะแก้ไข จึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ผู้สนใจสามารนำไปใช้ในการพัฒนาทีมงานของตัวเองได้ |
|
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผมไม่ได้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้าน Hard Skill (ความรู้ความสามรถในงาน) แต่เน้นที่ Soft Skill เพื่อให้คนเปลี่ยนความคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เหมาะสม จึงขอพูดในมุมมองของการพัฒนาตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่านั้น
|
ผมขออนุญาตแบ่งบุคลากรขององค์กรเป็น 3 ระดับเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย คือ
1.ระดับผู้จัดการ (ผู้จัดการแผนก, ผู้จัดการส่วน, ผู้จัดการฝ่าย)
2.ระดับหัวหน้างาน (Supervisor, Team Leader)
3.ระดับพนักงาน
|
ปัจจุบันองค์กรต่างๆ กำลังเร่งพัฒนา ระดับหัวหน้างาน เพราะเป็นกลุ่มบุคคลจำนวนมากที่จะต้องบริหารทีมงานให้ได้ผลผลิตตามต้องการ แต่หัวหน้างานส่วนใหญ่เติบโตมาจากผู้ชำนาญการในงานนั้นๆ เมื่อขึ้นมาบริหารคน จึงยังทำได้ไม่ดี ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ และสอนงานไม่เป็น ซึ่งจริงๆแล้ว ผู้จัดการ สามารถที่จะช่วยเขาพัฒนาตัวเองได้เลย เพียงแต่ว่า ผู้จัดการต้องให้เวลาและโอกาสในการพัฒนามากหน่อย จะทำให้เก่งเหมือนผู้จัดการในทันทีไม่ได้ ดังนั้นในบทบาทที่เหมาะสมสำหรับผู้จัดการก็คือ การเป็นโค๊ช ให้กับหัวหน้าเหล่านั้น โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขา และดึงศักยภาพที่เขามีอยู่ออกมาใช้ ผลักดันให้เขาคิดเอง ตัดสินใจเอง และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองโดยที่เราคอยให้กำลังใจและตรวจสอบช่วยเหลือเป็นระยะๆ อย่าใช้วิธีการสั่งเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เขาไม่มั่นใจในตัวเอง ก็เลยไม่สามารถไปสั่งหรือสอนน้องๆ พนักงานได้ เพราะตัวเองยังขาดความมั่นใจอยู่เลย
หัวหน้างานส่วนใหญ่ ไม่ค่อยอยากเป็นผู้นำ ทั้งๆที่บทบาทของเขาจำเป็นต้องเป็นผู้นำด้วย แต่เขากลัวในตำแหน่งผู้นำ เพราะรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบสูง ต้องตัดสินใจ ต้องกล้าแสดงออก จึงทำให้หลายๆ คน ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างานได้ไม่ดี ดังนั้น ผู้จัดการจึงต้องเป็นตัวอย่างผู้นำที่ดีให้กับเขา และสอนให้เขาเป็นผู้นำในStyle ของเขาให้ได้ เขาจึงจะเกิดความมั่นใจ แล้วเขาก็จะเป็นหัวหน้างานที่ดีได้เองครับ
สำหรับ ระดับพนักงาน แล้วต้องการ รายได้และความเข้าใจเป็นสำคัญ ดังนั้น หัวหน้างาน จึงต้องคอยสอนเขาในเรื่องงานให้มากหน่อย ส่วนเรื่องเงินเราคงช่วยโดยตรงไม่ได้ การสอนงานน้องๆ ที่ผมได้มีประสบการณ์มองเห็นหลุมพรางของหัวหน้างาน คือ
1.สอนเขาแบบที่ตัวเองเชี่ยวชาญ แล้วลืมคิดไปว่าน้องยังใหม่อยู่
2.เกิดความรู้สึกหงุดหงิดง่าย เมื่อน้องไม่ได้อย่างที่คิด
3.สอนให้เขาจำ ไม่ได้จูงใจให้เขาอยากเรียนรู้ด้วยตัวเขาด้วย
4.ไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องที่สอนเพราะขาดการเตรียมความพร้อมของตัวเอง
5.ไม่ชอบเรื่องการสอน จึงพูดให้ฟัง ไม่ใช่ตั้งใจสอน
ดังนั้นหากหัวหน้างานต้องการจะสอนงานน้องๆ คงต้องเตรียมตัวให้ดีเพราะเราอาจเก่งในเรื่องงานของเรา แต่ผู้เรียนเขาอาจไม่รู้ เราจึงต้องจูงใจเขาด้วย เพื่อให้เขาพร้อมที่จะรับความรู้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า เราสอนแล้วแต่เขาไม่ยอมพัฒนาเอง ทั้งๆที่ จริงๆแล้วเขายังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ และไม่กล้าบอกเราด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ ดังนั้นหัวหน้างานจึงต้องคอยสังเกตเองครับ
ความคิดเห็นของผมนั้นอยากให้องค์กรปรับแนวคิดของบุคลากรระดับบนที่ต้องพัฒนาทีมงาน โดยการให้ความสำคัญว่า ทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่สอนไปใช้ได้? มากกว่าการสอนในลักษณะที่เรารู้อย่างไรก็สอนอย่างนั้นเพราะจะไม่เกิดการเรียนรู้เลย เนื่องจากผู้เรียนมีความรู้น้อยกว่าผู้สอนจึงรับไม่ได้ครับ.
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|