|
เรื่องที่อยากเล่า # 63
หลักสูตรน่าสนใจในเรื่องการเป็นโค้ช |
25 มิ.ย. 2553 |
ตอนนี้ผมได้ทำหลักสูตรขึ้นมาอีก 2 หลักสูตร คือ
1. มาเป็นโค้ชให้กับลูกกันเถอะ
2. HRD ... คุณคือ โค้ช ขององค์กร! |
|
หลักสูตรแรกสืบเนื่องมาจากเพื่อนของผมได้อ่านบทความเรื่องพ่อ-แม่ เป็นโค้ชในหนังสือพิมพ์แล้วคิดว่า ผมน่าจะทำหลักสูตรประเภทนี้ขึ้นมา ซึ่งโดยปกติผมก็เป็นโค้ชให้กับผู้บริหาร พนักงาน หัวหน้างานขององค์กรต่างๆอยู่แล้ว มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทของโค้ชอยู่แล้วว่าจะดึงศักยภาพที่มีอยู่ของพนักงานโดยเขาเป็นผู้นำออกมาใช้ด้วยตัวของเขาเอง ผมก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมาทันที เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เวลาสอนหลักสูตรต่างๆ แนวทางของผมจะใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult Learning) และตัวของผมเองก็จะเป็นโค้ช เพื่อให้ผู้เรียนดึงศักยภาพของตัวเองออกมา ผู้เข้าฝึกอบรมก็ชอบแลกเปลี่ยนกับผมว่าแนวทางของอาจารย์สามารถนำไปใช้กับลูกได้ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะผมก็ใช้บางเรื่องอยู่ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร จนกระทั่งเพื่อนมาพูดให้ทำหลักสูตร จึงสนใจทันที
|
หลักสูตรที่ 2 เกิดจากการที่ผมมีโอกาสสัมผัสกับ HRD หลายๆองค์กรซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรโดยผ่านเครื่องมือต่างๆอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันได้เพียงแค่จัดหลักสูตรต่างๆ ,กิจกรรม และสร้างเวทีต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสพัฒนา แต่ก็รู้สึกว่าหลายๆคนไม่ค่อยอยากเข้าอบรม เพราะรู้สึกว่าอบรมไปแล้วไม่ได้อะไร การขอความร่วมมือในการทำกิจกรรมก็ยาก เพราะส่วนใหญ่ไม่เห็นประโยชน์ แต่ถ้า HRD ใช้บทบาทของการเป็นโค้ชบ้าง ก็จะสามารถจูงใจให้บุคลากรอยากพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น มองเห็นประโยชน์ของการพัฒนาตัวเอง ส่วนจะใช้เครื่องมืออะไร หรือชอบเวทีไหนก็ค่อยจัดกันอีกที เพราะโค้ชมีหน้าที่ดึงศักยภาพของผู้อื่นออกมาให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ ดังนั้น HRD จึงสมควรเป็นโค้ชอย่างยิ่ง
|
ที่อยากเล่าให้ฟังเนื่องจากผมอยากเชิญชวนทุกๆท่านใช้บทบาทของโค้ชกันบ้างในการบริหาร ดูแล หรือ พัฒนาผู้อื่น ถึงแม้ว่าบางกรณีการเป็นโค้ชอาจไม่เหมาะสม แต่ก็มีหลายๆเหตุการณ์ที่การใช้แนวทางบริหาร หรือ เลี้ยงดูแบบเดิมเริ่มไม่ค่อยได้ผล และคนทำก็รู้สึกเครียดและเหนื่อยมากในการพัฒนาผู้อื่น เพราะคนไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลง
การเป็นโค้ช ที่ไม่ได้อ้างอิงทฤษฏีมากนัก ก็เป็นบทบาทที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยครับ และผมก็คิดว่าหลายคนก็ใช้บทบาทนี้กันอยู่แล้วบ้าง อาจรู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัวก็ตาม
ผมขอสรุปแนวความคิดของการเป็นโค้ช ในมุมมองของผมอีกครั้งครับ
1.ทำให้ผู้อื่นมองเห็นตัวเอง (เป็นกระจกเงาให้เขา)
2.กระตุ้นให้ผู้อื่นดึงศักยภาพภายในตัวของเขาออกมาใช้
3.มีภาวะความเป็นผู้นำในความคิดของผู้อื่น (ผู้อื่นยอมรับ)
4.ทำให้ผู้อื่นอยากพัฒนาตัวของเขาเอง ด้วยตัวเขาเอง (เปลี่ยนแปลงตัวเอง)
5.เกิดความไว้วางใจ ระหว่างผู้สอนและผู้ถูกสอน
6.เกิดความสุขที่ได้พัฒนาผู้อื่น
พวกเราลองมาฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นโค้ชกันเถอะครับ ท่านจะเป็นโค้ช Style ไหน และอ้างอิงทฤษฎีใดก็แล้วแต่ ผมว่าดีหมดเลยครับ อย่ากังวลว่าเราเป็นโค้ชดีหรือไม่ ควรคิดแค่ว่าเราอยากเป็นโค้ชหรือไม่ก็พอครับ ถ้าอยากเป็นเดี๋ยววิธีการจะหาได้เองครับ
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|