|
เรื่องที่อยากเล่า # 62
พ่อ-แม่ มาเป็นโค้ชให้กับลูกกันเถอะ |
01 มิ.ย. 2553 |
วันนี้อยากเล่าเรื่องของผมที่เกี่ยวกับ โค้ช เพราะจากที่ผมผันตัวเองจากผู้บริหาร, ผู้จัดการ มายึดอาชีพวิทยากรในฐานะโค้ช ที่ผมใช้ในการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆของผม นับวันก็จะยิ่งชอบ บทบาทการเป็นโค้ชของตัวเองมากขึ้นเป็นลำดับ และสามารถทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆจนภาพลักษณ์ของผมในสายตาคนที่เกี่ยวข้อง เขายอมรับผมว่าเป็น โค้ช มากขึ้น |
|
ผมเคยทำแบบทดสอบตัวเองในด้านบุคลิกภาพและอาชีพที่เหมาะสมในหลายๆแบบทดสอบซึ่งเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว ว่าผลการประเมินออกมาว่าอาชีพที่เหมาะสมกับผมก็คือ ที่ปรึกษา,โค้ช,นักจิตวิทยา ประมาณๆนี้ครับ เร็วๆนี้ผมก็ได้มีโอกาสทดสอบอีกครั้งในแบบทดสอบที่ไม่ซ้ำกับอันเดิม ก็ได้ผลลัพธ์ว่าอาชีพที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพคือ โค้ช (Coach) ทำให้ผมยิ่งมั่นใจว่าผมเดินมาถูกทางแล้ว และตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นโค้ชที่ดี ไม่ใช่โค้ชที่เก่ง สามารถทำให้ผู้อื่นมีพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยตัวเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขาได้ ดำเนินชีวิตด้วยความสุข
|
สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเกี่ยวกับ โค้ช ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ เพราะอยู่ๆเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งผมสนิทมากและอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีความสนิทกับผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ได้โทรมาคุยกับผมว่าอ่านเจอบทความหนึ่งพูดถึงเรื่องการที่ พ่อ-แม่ เป็นโค้ชให้กับลูก ก็ทำให้นึกถึงผม อยากจะให้ไปพูดเรื่องการเป็นโค้ชให้กับผู้ปกครองตามโรงเรียนต่างๆได้ฟัง ซึ่งผมก็ยินดีเป็นอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ก็ปฏิบัติกับลูกๆในฐานะโค้ชมากกว่าการเป็นพ่อแม่ ทำให้ลูกเชื่อฟังและทะเลาะกับลูกๆน้อยลง ไม่เหมือนตอนเป็นผู้บริหารจะเครียดและหงุดหงิดกับลูกๆมาก เดี๋ยวนี้น้อยลงไปเยอะและลูกๆก็ชอบบทบาทใหม่ของผมมากกว่า เพราะเค้าได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น คือ ผมฟังเขามากขึ้นครับ
|
ผมจึงตั้งใจที่จะจัดหลักสูตรสำหรับคุณพ่อ-คุณแม่ที่สนใจในบทบาทของโค้ชขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้คุณพ่อ-คุณแม่ บางคนที่อยากจะทะเลาะหรือหงุดหงิดกับลูกน้องลง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จะได้ดูแลและพัฒนาลูกๆของพวกเราให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและเราก็มีความสุขในการเลี้ยงลูกมากขึ้นด้วยครับ
แนวทางของหลักสูตรที่ผมตั้งใจจะมีในเนื้อหาพอจะสรุปเป็นหัวข้อต่างๆได้ดังนี้ครับ
1.การเป็นนักฟังชั้นยอด
ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เป็นผู้ฟังมากกว่า ผู้พูดหรือผู้สอน เพราะจริงๆแล้วลูกๆมีเรื่องที่จะเล่าให้เราฟังมากมาย เพียงแต่เราไม่รู้วิธีฟัง จึงไม่ค่อยได้ฟังเรื่องต่างๆของเขา
2.การให้ความสำคัญเรื่องที่เขาทำดีมากกว่า
ลูกๆของเราก็มีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่ทำไม่ดี วันนี้เราสนใจเรื่องไหนของเขามากกว่ากันครับ เราชมเขาเมื่อทำดีทุกครั้งและพยายามถามถึงสาเหตุที่เขาปฏิบัติตัวไม่ดีหรือเปล่าว่าเป็นเพราะเหตุใด หรือตำหนิทันทีเมื่อเห็นเขาทำผิด
3.ให้ความสำคัญที่ความคิดของเขามากกว่า ข้อสรุปของเรา วันนี้เราพูดคุยกับเขาในเรื่องที่เขาสนใจ หรือเป็นความคิดของเขาหรือไม่ หรือเราสรุปเอาเองว่าความคิดของเรา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ย่อมดีกว่า โดยไม่สนใจว่าเขาจะชอบหรือไม่
4.กระตุ้นให้เขารับผิดชอบในเป้าหมายของเขา
ชี้แจงให้เขาเห็นว่าเป้าหมายเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เรามีส่วนร่วมในเป้าหมายของเขาเท่านั้น เพื่อจะได้ช่วยเหลือเขา ไม่ใช่อยากให้เขาทำให้เรา ดังนั้นให้แน่ใจว่าเป้าหมายเป็นของเขาและเขาอยากได้จริงๆ
5.ทำให้เขาคิดมากกว่าสั่งให้เขาทำ
เรามีหน้าที่ชี้ให้เห็นข้อดี-ข้อเสียในสิ่งที่เขาจะทำหรือทำไปแล้ว เพื่อให้เขาได้คิดด้วยตัวเองว่าทำถูกหรือไม่ อย่าเอาแต่สั่งว่าต้องทำอะไรเพราะเขาจะต่อต้านได้ง่าย
แนวคิดเบื้องต้นประมาณนี้ครับ ผมเขียนแล้วก็ยิ่งทำให้อยากจัดหลักสูตรนี้มากขึ้น คิดว่าคงได้เห็นกันเร็วๆนี้ครับ
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|