|
เรื่องที่อยากเล่า # 81
คุณสมบัติของโค้ชที่ดี |
16 ก.พ. 2555 |
ปี 2554 เป็นปีที่ผมได้มีโอกาสจัดทำโปรแกรม 1:1 Coaching ให้กับองค์กรต่างๆ ค่อนข้างมาก และสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการโค้ชชิ่งอยู่หลายหลักสูตร บางหลักสูตรก็จัดทำ In-House หลายครั้ง ทำให้มองเห็นว่าผู้เรียนติดขัดเรื่องอะไรในฐานะที่ต้องไปเป็นโค้ชและควรทำอย่างไร เมื่อทำบทบาทของโค้ชอยู่ |
|
สิ่งที่โค้ชมือใหม่ยังมีความกังวลคือ...
ควรใช้คำถามอย่างไรดี
ไม่แนะนำโค้ชชี่เลยจะได้ผลหรือไม่
โค้ชชิ่งเขาแล้ว เขาไม่ยอมรับจะทำอย่างไรดี
เกรงว่าพูดไปแล้วโค้ชชี่จะคิดมาก
โค้ชควรคิดอย่างไรกับโค้ชชี่ เพื่อให้โค้ชชี่ไว้วางใจ
อื่นๆ อีกมากมาย
|
ผมเชื่อว่าแนวความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน ถ้าต้องทำหน้าที่โค้ชทีมงาน ซึ่งผมก็เคยเกิดความรู้สึกคล้ายๆ นี้เช่นเดียวกัน แต่พอทำไปหลายๆ ครั้งก็เอาชนะความคิดเชิงลบเหล่านี้ไปได้
วันนี้จึงอยากมาเล่าให้ฟังว่า โค้ชชี่รู้สึกอย่างไรเมื่อผมเป็นโค้ช ผมได้รวบรวมแนวความคิดจากโค้ชชี่ที่ผมได้มีโอกาสโค้ชชิ่งว่า สิ่งที่ได้จากผมในระหว่างการโค้ชชิ่งนั้นแตกต่างจากการได้รับคำปรึกษาทั่วๆ ไปอย่างไร
|
สิ่งที่โค้ชชี่ตอบพอสรุปได้ดังนี้...
โค้ชชี่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จะนำไปปฏิบัตินั้น เป็นแนวความคิดของโค้ชชี่เอง โดยการตอบคำถามที่โค้ชถามเท่านั้นก็จะเข้าใจได้ว่าเราควรคิดอย่างไรกับเรื่องที่พูดคุยกันอยู่
โค้ชชี่รู้สึกว่าได้ฟังเรื่องราวต่างๆ จากโค้ชและโค้ชได้ให้โค้ชชี่คิดเองว่าจะตัดสินใจอย่างไร โดยโค้ชไม่ได้บังคับและไม่ได้เกี่ยวข้อง สิ่งต่างๆ เป็นความตั้งใจของโค้ชชี่เอง
โค้ชชี่รู้สึกว่า สามารถเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้ทันที เพียงแค่ตอบคำถามของโค้ชเพราะโค้ชพยายามให้มองเรื่องต่างๆ เป็นมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ทำให้ความคิดเชิงลบหายไปได้ ก็เลยรู้สึกดีกับความคิดของตัวเองมากขึ้น
โค้ชชี่รู้สึกว่า เรื่องต่างๆ ที่เคยรู้สึกว่าเป็นปัญหา จริงๆ แล้วสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ เพียงแค่ลองค้นหาวิธีอื่นๆ แบบเปิดใจไม่สรุปว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไร ลองทำไปก่อน สุดท้ายก็จะทำได้เองและวิธีการต่างๆก็เหมาะกับโค้ชชี่เพราะโค้ชชี่เป็นผู้คิดเอง
โค้ชชี่สามารถคุยได้ทุกเรื่องเพราะเชื่อว่าโค้ชยินดีรับฟังและแค่ให้แง่คิดเท่านั้น ไม่คิดที่จะต่อว่าหรือ Comment เพียงแค่การพูดคุยกัน โค้ชชี่จะคิดได้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร โค้ชไม่พยายามบังคับให้ยอมรับแต่จะจูงใจให้คิดมากกว่า
ผมจึงขอสรุปคุณสมบัติของโค้ชที่ดี คือ...
1. เชื่อว่าโค้ชชี่แก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
2. ทำให้โค้ชชี่ได้คิดเอง โดยใช้คำถาม
3. เปิดโอกาสให้โค้ชชี่เป็นผู้เลือก อย่าตัดสินใจแทน
4. มองโค้ชชี่ด้วยมุมมองเชิงบวก
5. จูงใจเก่ง แต่ไม่ใช่โน้มน้าวให้เชื่อตามโค้ช
6. พูดคุยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโค้ชชี่เป็นหลัก
7. เก็บความลับในเรื่องที่พูดคุย
8. สนุกสนานกับการพูดคุยไม่เครียด
9. ยอมรับในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ลองดูนะครับ ระหว่างการโค้ชชิ่งควรปฏิบัติตัวให้ได้ตามนี้ เชื่อแน่ว่าคุณจะเป็นโค้ชที่ดีขึ้นในสายตาของโค้ชชี่แน่นอนครับ
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|