|
เรื่องที่อยากเล่า # 87
การพัฒนาวิทยากรภายในองค์กร |
14 ส.ค. 2555 |
วันก่อนได้จัดอบรม การพัฒนาวิทยากรภายในองค์กร ให้กับวิทยากรภายในบริษัทต่างๆ ที่มีความสนใจในแนวทางการฝึกบรมแบบ Group Coaching ที่ผมได้ดำเนินการฝึกอบรมอยู่ โดยคิดค่าใช้จ่ายแค่ค่าอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น ก็มีคนสนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก แต่ก็คัดเลือกได้เพียงบางส่วน แต่ผมมีแผนที่จะจัดภายใน ปี 55 นี้ทั้งหมด 5 รุ่น (รุ่นละ 15 คน) ก็คงจะทำให้วิทยากรภายในองค์กร ได้เทคนิคใหม่ๆ ไปปรับใช้กับการฝึกอบรมของตัวเองได้เพิ่มขึ้น |
|
เรื่องที่อยากเล่าคือ ผมได้ถ่ายทอดเคล็ด (ไม่) ลับในการฝึกอบรมแบบ Group Coaching แล้วผู้เรียน (วิทยากร) สามารถนำไปปรับใช้กับหลักสูตรที่ตัวเองเคยสอนอยู่ได้ไม่ยากนัก จึงรู้สึกภูมิใจว่าแนวทางของเรานั้นสามารถผสมผสานกับแนวทางการฝึกอบรมที่ทุกคนใช้กันอยู่ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นแก่นของการฝึกอบรมที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น
|
ความเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพแล้วสามารถพัฒนาตัวเองได้: วิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพอยู่แล้ว รอให้วิทยากรกระตุ้นให้ดึงออกมาใช้ โดยการให้ความรู้พร้อมจูงใจให้นำไปใช้ให้ได้ ไม่ใช่การสอนให้รู้และเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ คำถาม ว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองอย่างไร ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงและนำความรู้ไปใช้เร็วขึ้น
ความเชื่อเกี่ยวกับ วงจรพฤติกรรม: วงจรพฤติกรรมกล่าวไว้ว่า ความคิดเปลี่ยน >> ความรู้สึกเปลี่ยน >> การกระทำก็จะเปลี่ยน ทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ ดังนั้น ควรให้ผู้เรียนเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน แล้วผู้เรียนจะเปลี่ยนการกระทำเอง วิทยากรไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการ (การกระทำ) ทันที่ แต่ต้องกระตุ้นให้เปลี่ยนความคิดของเขาใหม่ แล้วจึงให้วิธีการต่างๆ ที่เป็นทางเลือกกับเขาอีกครั้ง เขาก็จะเลือกด้วยตัวของเขาเอง
การให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่ปัจจุบัน: วิทยากรจะมีข้อมูลว่าผู้เรียนขาดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ต้องฝึกอบรมให้ดีขึ้น ทำให้มุ่งประเด็นไปที่ผู้เรียนยังไม่ดีพอ และคาดหวังว่าผู้เรียนต้องดีขึ้นทำให้เกิดความเครียดขึ้น แต่ถ้าวิทยากรให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าอดีตของผู้เรียนเป็นอย่างไร เพราะไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขได้แล้ว รวมทั้งเลิกกังวลกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ ผู้เรียนจะดีขึ้นหรือนำไปใช้หรือไม่ แต่พยายามตั้งใจสอนแล้วสนุกกับการสอนพร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงที่ปัจจุบันให้ดีขึ้น คือการนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง ก็จะทำให้อนาคตของผู้เรียนดีขึ้นแน่นอน วิทยากรก็จะมีความสุขแล้วไม่กดดันทั้งผู้เรียนและตัววิทยากรเอง
|
การฝึกอบรมทำให้วิทยากรรู้สึกว่าอยากฝึกอบรมมากขึ้น เพราะสามารถเพิ่มเทคนิคที่ได้รับกับหลักสูตรของตัวเองเพิ่มขึ้น เช่น
การใช้คำถามให้ผู้เรียนคิดเอง
การจูงใจให้ผู้เรียนเขียน พูด แล้วนำไปปฏิบัติ
การมองผู้เรียนในเชิงบวก
การยอมรับผู้เรียนในสิ่งที่ผู้เรียนเป็น
การเพิ่มความสนุกในการสอนของตัวเอง
(เป็นต้น)
ผมจึงแบ่งแนวทางการฝึกอบรมของผมในรูปแบบ Group Coaching ของผมเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
การฝึกอบรม Group Coaching by Theory
การฝึกอบรม Group Coaching in Application
การฝึกอบรม Group Coaching by Activity
การฝึกอบรม Group Coaching by Tools
แล้วผมคงจะเล่ารายละเอียดของการฝึกอบรมแต่ละประเภทอีกครั้งที่มีโอกาสนะครับ
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|