|
|
เรื่องที่อยากเล่า # 46
ภาพลักษณ์การปฏิบัติตัวในการเป็นโค้ช |
09 มี.ค. 2552 |
ปัจจุบันไปฝึกอบรมให้กับองค์กรใดๆก็ตามมักจะคุยกันถึงเรื่องการที่หัวหน้างานไม่ค่อยสอนงานน้องๆในทีม ทำให้งานต่างๆกระจุกตัวอยู่ที่หัวหน้าเท่านั้น และลูกน้องก็ไม่ค่อยได้คิดได้พัฒนาเท่าไร โดยที่หัวหน้าก็มีเหตุผลว่า พยายามสอนแล้วทำไมไม่ได้สักที และไม่ค่อยตั้งใจทำ เอามาทำเองดีกว่าสบายใจดี แต่สุดท้ายก็จะบ่นว่างานเยอะไม่ค่อยมีคนช่วยวนเวียนกันอย่างนี้ไม่จบสิ้น
|
|
วันนี้เลยอยากให้มุมมองเรื่องการสอนงาน (Coaching) ซึ่งไม่ใช่ฝึกสอนงานระหว่างทำงาน ( On the Job Training ) นะครับ ซึ่งความแตกต่างคร่าวๆก็คือว่า การสอนงาน (Coaching) เป็นการพัฒนาศักยภาพของลูกน้องเราซึ่งมีความสามารถในเรื่องนั้นๆอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังนำความสามารถของตัวเองมาใช้ได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดของตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ความกลัว ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับตัวเอง และเกี่ยวกับงาน
เพราะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ หรือไม่อยากเผชิญกับความยากลำบาก อยากทำในสิ่งที่คุ้นเคยที่ทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นต้น
ดังนั้นหัวหน้าหรือผู้จัดการ จึงต้องสอนงานให้ลูกน้องเข้าใจในตัวเอง และนำศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ โดยทำให้มุ่งมั่น และรับผิดชอบต่อเป้าหมาย มองเห็นประโยชน์เมื่อทำงานนั้นๆสำเร็จ โดยเน้นย้ำว่า ต้องให้ลูกน้องคิดได้ด้วยตัวเองนะครับไม่ใช่ไปบังคับให้เขาทำ เพราะมิเช่นนั้นก็จะไม่ใช่การสอนงาน (Coaching) แต่เป็นการสั่งงานแทน
|
หัวหน้าที่อยากสอนงาน (Coaching) ลูกน้องให้ได้ดีหรือเป็นโค้ชที่ดีนั้นควรทำอย่างไร ผมขอสรุปประสบการณ์ในการเป็นโค้ชที่ผมทำอยู่นั้น ผมจะปฏิบัติตัวใน 4 อย่าง ดังนี้
1. เป็นกระจก : สำหรับสะท้อนให้ลูกน้องมองเห็นตัวเอง ด้วยตัวของเขาเองพยายามที่จะไม่ไปบังคับให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ใช้คำถามเพื่อให้เขาตอบเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไรที่เขาตอบคำถาม เขาก็จะมองเห็นตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆจนเขาอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เองครับ
2. เป็นไกด์ทัวร์ : การเป็นหัวหน้างานที่ดี และจะสอนงานในเรื่องใดให้กับลูกน้องก็แล้วแต่ ควรจะเคยปฏิบัติในเรื่องนั้นๆมาแล้ว เช่น อยากให้ลูกน้องมุ่งมั่นในเป้าหมาย เราก็คงเคยทำเรื่องดังกล่าวมาแล้ว และรู้ถึงความยากลำบาก แต่ก็มีความสุขเมื่อทำสำเร็จ เมื่อสอนงานก็จะบอกเล่าเรื่องราวได้ชัดเจน และทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกร่วมได้จริงๆ ไกด์ทัวร์เก่งๆจะทำให้ลูกทัวร์ตื่นเต้น และสนุกสนานระหว่างเดินทางได้มาก โค้ชก็เช่นเดียวกันครับ
3. เป็นเทียนไข : ระหว่างการพัฒนาตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองของลูกน้องนั้น มักจะเจออุปสรรคด้านจิตใจอยู่เสมอๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่อยากพอ เมื่อเจออุปสรรคก็จะลดความอยากลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้กำลังใจเพิ่มเติม ดังนั้นโค้ชควรให้พลังในการเริ่มต้น แล้วค่อยเติมพลังให้อยู่เรื่อยๆจนเขาเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของเขาเอง สิ่งที่ต้องควรระวัง คือ โค้ชอย่าหมดพลังเองแล้วกัน เพราะผมพบบ่อยๆว่า โค้ชจะหมดพลังตามลูกน้องไปด้วย แล้วเลิกโครงการกันไป
4. เป็นแผนที่ : หากหัวหน้างานสามารถวาดภาพให้ลูกน้องเห็นเส้นทางการเจริญเติบโต และแนวทางเพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายตามที่กำหนดได้ละเอียดและชัดเจนแค่ไหน ก็จะทำให้กระบวนการ การสอนงาน (Coaching Process) บรรลุผลสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะลูกน้องก็จะเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น มีแผนการเดินทางที่แม่นยำ และรู้ช่วงเวลาต่างๆของการพัฒนาตัวเองด้วย ทำให้อยากทำมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าจะไม่หลงทาง แต่ต้องให้เป็นความคิดของลูกน้อง แต่ต้องให้เป็นความคิดของลูกน้องในการกำหนดแผนที่นั้นร่วมกันนะครับ ไม่ใช่เราเขียนให้ฝ่ายเดียว
ลองเลือกดูนะครับว่าเราจะเป็นอะไรดีในการเป็นโค้ชให้กับน้องๆของเรา เป็นอะไรก็ได้ครับ ขอให้ตั้งใจในการสอนงาน (Coaching) ก็พอแล้วครับ รับรองได้รับผลที่ดีแน่นอน สอนงานกันเถอะครับ ดีกว่าการสั่งงานเยอะเลย
|
|
<<
เรื่องก่อนหน้า
|
เรื่องเล่าย้อนหลัง |
เรื่องต่อไป
>>
|
Feedback >> |
ส่งความคิดเห็น/มุมมองของท่าน |
Date |
ความคิดเห็นเพิ่มเติม |
|
23 มิ.ย. 2552 |
ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าที่ดีๆ ที่เผยแพร่เป็นวิทยทานความรู้
ขอแสดงความนับถือ
พรพิมล
โดย : พรพิมล เชวงศักดิ์โสภาคย์
|
|
To top ^ |
|
|